Theme ธีมนั้นสำคัญแค่ไหน ?

คำว่า ธีม(Theme) ถูกนำไปใช้ในหลากหลายแวดวงมาก หลายครั้งเมื่อทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม บางคนก็จะสับสนว่าธีมมันหมายถึงอะไรกันแน่ ยกตัวอย่างเช่นในงานแต่งงานก็มี “ธีมสี” งานแต่งวันนี้ธีมสีพาสเทล ในการวาดรูปก็มีธีมซึ่งก็มีความหมายในตัวเองไปอีก แล้วคำว่าธีมในแต่ละศาสตร์มันต่างกันหรือไม่ อย่างไร ? 

จริง ๆ คำว่าธีมในทุกศาสตร์มีจุดร่วมกันอยู่ครับ คือ เวลาที่เราพูดถึง “ธีม” ในงานศิลปะ เรากำลังหมายถึง “ความคิดหลักที่ต้องการสื่อสาร” ศาสตร์แต่ละศาสตร์มีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ละสายจึงทำให้เข้าใจได้ง่ายและเร็วเพื่อนำไปใช้ได้ง่าน เช่นธีมสีชุดในวันแต่งงาน จริง ๆ คือต้องการ “สื่อความคิดหลัก” ผ่านสีสัน พอเอามาใช้ข้ามไปข้ามมาจึงถูกแปลความหมายไปต่าง ๆ นา ๆ จนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ในที่สุด 

ธีมในงานเขียนบทคืออะไร ? 

สำหรับในงานเขียนบทภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครโทรทัศน์ ธีม(theme) คือ “ความคิดหลักที่ต้องการสื่อสาร” ในการสร้างสรรค์เรื่องนั้น ๆ หรือถ้าจะพูดให้ง่ายคือ “คนดูจบดูแล้วได้อะไร คิดอะไร แล้วอยากทำหรือไม่อยากทำอะไร” ถ้าเข้าใจตรงจุดนี้ก็จะทำให้การเขียนบทมีทิศทางที่ชัดเจนไม่สับสน 

คิดธีมยังไง ?

การคิดธีมทำได้หลายวิธีครับ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าเวลาที่เราพูดคุยสื่อสารกัน มันจะมีในส่วนของ “ประเด็น” กับ “ความคิดเห็นต่อประเด็นนั้น” ซึ่งคนเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือน ๆ กัน และไม่ควรถูกบังคับให้คิดเหมือนกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น “ประเด็น = ความหลากหลายทางเพศ” ความคิดต่อประเด็นมันหลากหลายมาก ทั้ง
1. ความคิดที่เห็นด้วยว่าโลกควรมีหลายเพศเป็นอะไรก็ได้ 
2. ความคิดที่บอกว่าโลกควรมีแค่ 2 เพศเท่านั้น 
3. ความคิดที่ว่าเพศกำเนิด ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศสภาพ 
หรืออื่น ๆ ไปได้อีกเยอะแยะมากมายไม่รู้จบ 
เราจะเห็นได้ว่าในประเด็นหนึ่งประเด็นจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากมายปะทะกันอยู่ และความคิดที่เราอยากสร้างหนังหรือศีรีส์สักเรื่องขึ้นมาเพื่อสื่อสารมันออกไป นั่นแหละครับจะเป็น “ธีม” ที่แข็งแรงของเรา 

สูตรการเขียนธีม

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ผมได้สร้างสูตรการเขียนธีมออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้ครับ 

การเขียนธีม

คือการจะเขียนธีมให้ออกมาดี และใช้งานได้จริง ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังเขียนเพื่อสื่อสารใน “ประเด็น” ใดอยู่ และนอกจากประเด็นแล้ว สิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่านั้นคือ “ความคิด” ครับ เราคิดอะไร ทำไมเราจึงอยากให้ผู้ชมคิดแบบนั้น ถ้าผู้ชมคิดแบบนั้นโลกมันจะดีขึ้นยังไง สิ่งพวกนี้คือสิ่งที่เราต้องตอบให้ได้ครับ แล้วธีมของคุณจะชัดขึ้น พอธีมชัดขึ้นการสร้างงานออกมาก็จะมีความแข็งแรงมากขึ้น เราจะรู้ได้ทันทีว่าตัวละครควรจะเป็นยังไง สถานการณ์อะไร “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ในเรื่อง การที่ธีมชัดจะส่งผลให้การเขียนบทมีทิศทางที่ชัดเจนและไม่สับสนครับ

วิธีแก้ไขเมื่อธีมไม่แข็งแรง ? 

เคยได้ยินคำว่าหนังออกทะเลมั้ยครับ ? ไม่ได้หมายถึงหนังเรือรบ หรือหนังเรื่อง Life of pi นะครับ แต่หมายถึงตั้งใจเล่าอย่างนึง แต่ผลกลับออกมาตรงข้าม หรือเป็นอย่างอื่นไปเลย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นแบบนั้นคือ “ธีมไม่ชัด” ครับ พอธีมไม่ชัดมันจะทำให้สับสนปนเปมั่วซั่วไปหมด จนออกทะเล เพราะไม่รู้ว่าเรากำลังสื่อสารอะไรไปเพื่อเป้าหมายใดอยู่ ถ้านึกไม่ออกลองไปคุยกับเพื่อน แล้วบังคับให้เราต้องพูดโดยที่ไม่รู้ว่าอยากพูดอะไรกันแน่ดูสิครับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือนั่นแหละ ออกเทละ เอ้ย ! ทะเล แน่นอน 

จะทำยังไงให้ธีมแข็งแรง 

วิธีการทำให้ธีมแข็งแรงง่ายมากครับ คือคุณต้องมีความคิดต่อประเด็นที่ชัดเจน มากขึ้น การจะมีความคิดต่อประเด็นที่ชัดเจนมากขึ้นมีวิธีเดียวครับคือต้องผ่านการรีเสิร์ช (Research) ค้นคว้าหาข้อมูล คิดตาม เพื่อหาให้เจอให้ได้ว่าจริง ๆ แล้วเราคิดอะไรกันแน่เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ซึ่งพอพูดถึงการรีเสิร์ชผมไม่ได้หมายถึงการไปนั่งอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวนะครับ คุยกับคนที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ สัมภาษณ์ ดูหนัง อ่านหนังสือ พาตัวเองไปเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ควบคุมได้ คิดตรึกตรองเพิ่มเติม พวกนี้จะทำให้ประเด็นคุณชัดเจนขึ้นครับ และบางครั้งหลังจากการรีเสิร์ชแล้วความคิดต่อประเด็นของคุณอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีเลยล่ะ เพราะนั่นหมายถึงว่าคุณได้คิดลึกซึ้งมากขึ้น จนทำให้ความคิดคุณเติบโตและเข้าใจอะไร ๆ กว้างมากขึ้นแล้วนั่นเอง 

อย่างไรจึงเรียกว่าธีมทำงานกับความคิดผู้ชมแล้ว

ก่อนจะพูดถึงการนำไปใช้ ขอพูดถึงความสำเร็จของการสื่อสารให้ชัดเจนเสียก่อน จะได้ไม่พลาด เวลาที่คิดธีมออกมา “ความสำเร็จไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนให้คนดูทุกคนคิดแบบที่เราคิด” อันนี้สำคัญมากนะครับ เพราะเราคือสื่อครับ เราไม่ใช่ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ “ชวนเชื่อ” (Propaganda) ดังนั้นผู้ชมไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเรา เราสร้างหนังขึ้นมาเพื่อ “สื่อสาร” ครับ ไม่ใช่ “สั่งสอน” ต้องจับแก่นความคิดตรงนั้นให้แน่นก่อน เพราะมันส่งผลต่อการเขียนและการออกแบบสถานการณ์ในเรื่องครับ 

ความสำเร็จของแต่ละคนคงหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ความสำเร็จของผมคือการชวนให้ผู้ชมได้คิดตรึกตรองในประเด็นที่เราสื่อสารให้ลึกซึ้งมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วเมื่อผ่านกระบวนการทางความคิดของเขาแล้ว เขาจะเลือกคิดเลือกเชื่ออย่างไร นั่นคือชีวิตของเขาครับ แต่อย่างน้อยเราได้กระตุ้นให้เขาได้คิดในมุมมองที่หลากหลายและลึกซึ้งมากขึ้น

ถ้าธีมไม่ชัดส่งผลอะไร ?

หัวข้อนี้สนุกมากนะครับเวลาพูดคุยกัน ถ้าธีมไม่ชัดนอกจากจะทำให้บทมันเขียนยากแล้ว การกำกับก็จะงง ๆ เพราะไม่รู้ว่าเรากำลังพาผู้ชมไปสู่อะไรกันแน่ และสิ่งที่เกิดตามมาน่ากลัวมากคือ “การหลงทาง” ครับ เอาง่าย ๆ ดังนี้ครับ ถ้านักเขียนบทมีความคิดต่อประเด็นไม่ชัด เช่นเขาอยากเล่าประเด็น “สิทธิสตรี” ว่าผู้หญิงก็มีสิทธิมีเสียงมีคุณค่าไม่ต่างจากผู้ชาย ถ้าความรู้ไม่พอ ความคิดต่อประเด็นไม่ชัด ไปออกแบบเรื่องราวว่า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกผู้ชายกดขี่กระทำมาทั้งชีวิต จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาแก้แค้นผู้ชายทั้งโลก คือถ้าออกแบบมาแบบนี้คือผิดแล้วนะครับ นั่นคือความเข้าใจต่อประเด็นที่ผิด และส่งผลให้ธีมออกมาผิด เรื่องที่ออกมาก็ผิด อันนี้คือออกทะเลนะครับ เพราะตัวอย่างที่ยกมามันไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรี หรือการเรียกร้องสิทธิสตรีเลยครับ พอเห็นภาพชัดเจนขึ้นมั้ยครับ 

หนังหนึ่งเรื่องต้องมีธีมเดียวมั้ย ? 

ในหนังหนึ่งเรื่อง หรือซีรีส์หนึ่งเรื่อง ควรมีธีมหลักธีมเดียวครับ เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องยัดทุกอย่างลงไปในหนังเรื่องเดียวนี่ครับ ชีวิตนี้ไม่ได้กะเขียนบทเรื่องเดียวแล้วตุยเย่เนอะ เอาให้ชัด ๆ ครับว่าอย่างสื่อสารอะไรแน่ แต่!! มีแต่ ! มันมีธีมรองได้ครับ ซึ่งควรจะมี เป็นกรอบในการเล่าเรื่อง เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีธีมหลักคือ “คนเราไม่ควรตัดสินกันจากเพศสภาพ” แล้วยังมีธีมรองได้อีกในประเด็น “มิตรภาพ, ศาสนา, วัฒนธรรม, อำนาจนิยม, การฆ่าตัวตาย, การยุติการตั้งครรภ์” พวกธีมรองพวกนี้มีได้ครับ เป็นกรอบของการเล่าเรื่อง แล้วดีด้วยเพราะว่าสถานการณ์ทุกสถานการณ์ในเรื่องจะไม่ออกนอกกรอบของธีมในเรื่อง แต่ถ้าถามว่าทัศนคติต่อทุกประเด็นต้องถูกสื่อสารให้กระจ่างชัดเจนทุกประเด็นมั้ย อันนั้นคือเป็นไปไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องทำครับ เอาให้ธีมหลักออก ทำให้ผู้ชมครุ่นคิด ตรึกตรอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้บทของคุณไม่ออกทะเลครับ

ตัวอย่างธีมจากภาพยนตร์  

Pieta Review | SBS Movies

ลองมาดูเรื่องแรกกันครับ Pieta นี่เป็นหนังเรื่องท้าย ๆ ในชีวิตของ Kim Ki-Duk ผู้กำกับชื่อดังชาวเกาหลีใต้ที่ผมชอบงานเค้ามาก ถ้ายังไม่ได้ดู ไปหาดูนะครับ หนังดีมาก 

อย่างในเรื่องนี้ธีมหลักของเรื่องจากการตีความของผม คือ การเลี้ยงดูและคุณภาพชีวิตมันส่งผลต่อตัวตนของมนุษย์ ซึ่งเราจะเห็นธีมนี้ปรากฏทั้งเรื่องผ่านตัวละครหลักทั้งสอง ปูมหลัก สถานการณ์ การเติบโตของตัวละคร การตัดสินใจของตัวละคร พวกนี้สะท้อนมายังธีมหลักหมด แต่ขณะเดียวกันก็มีธีมรองที่แข็งแรงทั้งเรื่องของการแก้แค้น กฎหมาย คุณภาพชีวิต การให้อภัย หนังเรื่องนี้ไม่ได้ฟันธงว่าแบบไหนคือดีที่สุด แต่ชวนให้ครุ่นคิด ซึ่งมันคือการออกแบบธีมที่ทำได้สวยงามมากครับ 

Money Heist Season 5 Trailer Shows Thieves Fighting the Army

ได้ดูเรื่องนี้กันมั้ยครับ ถ้ายังนี้ต้องไปหาดูเลย อย่าง Money Heist นี่เป็นซีรีส์ยาวหลายสิบชั่วโมง ดังนั้นตัวซีรีส์นี้มีทั้งธีมหลัก ธีมรองมากมาย เต็มไปหมด ทั้งเรื่องของชนชั้น ความยุติธรมม มิตรภาพ การหักหลัง ความฉ้อฉลของรัฐบาล ความโหดร้ายเลือดเย็น เกมการเมือง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า Money Heist ไม่ได้ออกนอกเรื่องไปแตะในประเด็นที่ไม่เกี่ยวของกับเนื้อเรื่องหลักเลย ตัวเรื่องจะเล่าอยู่ในกรอบของธีมหลัก และธีมรองเสมอ กล่าวคือ ไม่มีฉากไหนที่ “โดด” ออกไปจากเรื่อง โดยไม่จำเป็นเลย 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และผู้สนใจด้านการเขียนบทนะครับ 🙂 ถ้าชื่นชอบพิมพ์ให้กำลังใจ หรือกดแชร์ไปจะยินดีมากเลยครับ 

 

Ratapong Pinyosophon
Ratapong Pinyosophon

นักเขียนบทภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครโทรทัศน์ ได้รับรางวัลด้านการเขียนจาก 4 สถาบันระดับประเทศ มีประสบการณ์ สามารถใช้ความรู้ด้านการเล่าเรื่องในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่าง ๆ ทั้งงานเขียนบททุกประเภท งานเขียนบทความ งานออกแบบเว็บไซต์ รวมถึงงานกราฟฟิก ก็จ้างได้นะครับ แฮ่ !